996 จำนวนผู้เข้าชม |
1.ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ เช่น โรคเหงือกหรือโรคปริทันต์ การสูญเสียฟัน ฟันผุในผู้สูงอายุ ภาวะปากแห้ง แผลในช่องปาก และมะเร็งในช่องปาก อาจมีได้ตั้งแต่โรคในช่องปากที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวัย หรือโรคในช่องปากที่มีผลมาจากโรคทางระบบอื่นๆ หรือยาที่รับประทานสำหรับรักษาโรคนั้นๆ
2.การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีความสำคัญ เพราะปัญหาสุขภาพภายในช่องปากของผู้สูงอายุ อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และลดทอนความมั่นใจ เพียงแค่หนึ่งปัญหาอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุและลูกหลาน หรือผู้ดูแล ควรหมั่นคอยสังเกต และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากและดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ
วัยที่มีความน่ากังวลเรื่องสุขภาพมากที่สุด คือ วัยสูงอายุ เพราะเป็นวัยที่สมรรถภาพทางร่างกายลดลง อาจทำให้ไม่สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ดีเหมือนก่อนหรืออาจมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นวัยที่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกับปัญหาสุขภาพช่องปากที่หลายคนอาจมองข้าม
1.ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ
ทพญ.ดร. อรุณวรรณ หลำอุบล ทันตแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่ช่องปากของผู้สูงอายุมีโรคเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบริเวณปาก ภายในช่องปาก ฟันหรือลิ้น เป็นต้น อาจมีได้ตั้งแต่โรคในช่องปากที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวัย หรือโรคในช่องปากที่มีผลมาจากโรคทางระบบอื่นๆ หรือยาที่รับประทานสำหรับรักษาโรคนั้นๆ
2.สาเหตุของปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ
ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น การใส่ฟันปลอมที่ไม่ถูกวิธีและไม่เหมาะสม กระดูกมีความหนาแน่นและแข็งแรงน้อยลง การบริโภคเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดคราบ เช่น ชา/กาแฟ หรือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุได้เช่นกัน
ปัญหาสุขภาพช่องปาก ที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
โดยปัญหาสุขภาพช่องปากที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ได้แก่
1.โรคเหงือกและโรคปริทันต์อักเสบโดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ และสามารถพัฒนาไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกที่รองรับฟันได้ โดยอาการที่พบขึ้นกับความรุนแรงของโรค มีได้ตั้งแต่เหงือกมีสีแดง เลือดออกขณะแปรงฟัน และในรายที่มีความรุนแรงของโรคมาก จะพบเหงือกร่น มีการทำลายของกระดูกรองรับรากฟัน รวมทั้งสามารถพบฟันโยกได้อีกด้วย หากมีการทำลายอย่างมาก จะนำไปสู่การสูญเสียฟันได้
2.ฟันผุในผู้สูงอายุ มักพบฟันผุได้มากที่บริเวณคอฟันและรากฟัน เนื่องจากมีการสูญเสียเหงือกและกระดูกรองรับรากฟันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีภาวะปากแห้งร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุให้สูงขึ้น ซึ่งหากรอยผุนั้นมีการลุกลามอย่างมาก สามารถนำไปสู่การติดเชื้อในช่องปาก และการสูญเสียฟันได้
3."การสูญเสียฟัน ในผู้สูงอายุ และการดูแลฟันปลอมในผู้สูงอายุการสูญเสียฟัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องมีการทำฟันปลอมเพื่อทดแทนฟันที่เสียไป บางท่านอาจคิดว่าการใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีเป็นเรื่องเล็กๆ แต่การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีนั้น อาจก่อให้เกิดโรคภายในช่องปากได้มากกว่าที่คิด
ในผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ที่ไม่พอดี จะทำให้เกิดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายในช่องปากได้ ฟันปลอมที่ไม่พอดี จะก่อให้เกิดการเสียดสีกับเหงือก ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาใช้งานและอาจพบแผลบริเวณที่ใส่ฟันปลอมได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ปัญหาจะรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุ
สำหรับฟันปลอมชนิดถอดได้ที่ใช้งานมานานหลายปี อาจพบว่าฟันปลอมที่เคยพอดีกลับหลวม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของเหงือกและขากรรไกร ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการไม่พอดีของฟันปลอม
ดังนั้น การใส่ฟันปลอม ต้องมีการสังเกตอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้มีการแก้ไข และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากตามมา นอกจากนี้ฟันปลอมที่เก่าและมีสภาพไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้อีกด้วย"
4.ภาวะปากแห้ง เมื่ออายุมากขึ้น อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตน้ำลาย นอกจากนี้โรคทางระบบบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาขับปัสสาวะ อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดภาวะปากแห้งจากยาได้
5.แผลในช่องปาก ผู้สูงอายุเป็นแผลในช่องปาก เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการกระทบกระแทกจากฟันปลอมหรืออาหารที่แข็งหรือขอบฟันที่คม หรือเป็นแผลอักเสบในช่องปากที่มีสาเหตุจากภาวะอื่นๆ เช่น แผลร้อนใน แผลติดเชื้อ หรือโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง เป็นต้น ซึ่งการมีแผลในช่องปาก ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากแผลเรื้อรังในช่องปากอาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งช่องปากได้
6.มะเร็งช่องปาก สามารถพบได้โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้ในผู้ที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงชัดเจน โดยจะมีลักษณะเป็นรอยขาว รอยแดง ก้อนบวมหรือแผลเรื้อรังในช่องปาก ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
ปัญหาต่างๆ ในช่องปากของผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบหลายอย่างต่อตัวผู้สูงอายุเองทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ผลกระทบโดยตรง เช่น มีผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและการรับประทานอาหาร อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย การอักเสบติดเชื้อจากโรคในช่องปากก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ รวมถึงหากมีการสูญเสียฟันเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ความสูงของใบหน้าลดลงเนื่องจากไม่มีฟันมารองรับ ทำให้ใบหน้าเหี่ยวย่น เกิดการพูดไม่ชัด และอาจทำให้เกิดความกังวลในการเข้าสังคม
การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันปัญหาช่องปาก
1.แปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันโดยใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันเป็นประจำทุกวัน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี เพราะคราบสะสมบนฟันเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากละเลยสุขอนามัยในช่องปาก
2.ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาปากแห้ง น้ำลายน้อย
3.พบทันตแพทย์ตามกำหนดเวลา เพื่อทำความสะอาดและตรวจช่องปาก และควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกาย ยาที่รับประทาน และปัญหาภายในช่องปากที่เกิดขึ้น
4.งดการสูบบุหรี่
5.งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6.จำกัดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
7.ดูแลฟันปลอมให้ถูกวิธี ไม่ควรใส่ฟันปลอมตอนนอนและทำความสะอาดฟันปลอมอย่างสม่ำเสมอด้วยการแปรงด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มกับน้ำสบู่เพื่อทำความสะอาดฟันปลอม
8.สังเกตอาการภายในช่องปากของตนเองเสมอ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบทันตแพทย์ทันที
โดยสรุปแล้ว ปัญหาสุขภาพภายในช่องปากของผู้สูงอายุ อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และลดทอนความมั่นใจของผู้สูงอายุได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเพียงแค่หนึ่งปัญหาช่องปากในผู้สูงอายุอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุ และลูกหลาน หรือผู้ดูแลควรหมั่นคอยสังเกตอาการในช่องปาก และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากและดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ
ถ้ามีความผิดปกติของช่องปากเกิดขึ้น เช่น ฟันปลอมที่ไม่พอดี มีแผล ก้อนบวมในช่องปาก มีความลำบากในการเคี้ยวหรือกลืน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ทันท่วงที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.sanook.com
สยามสไมล์