586 จำนวนผู้เข้าชม |
โดยปกติในวันหนึ่งคนเราจะผมร่วงอยู่ที่ประมาณวันละไม่เกิน 100 เส้น แต่หากมากกว่านั้นแปลว่าผมร่วงมากกว่าปกติ และควรหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่อาการผมร่วงจะรุนแรงและพัฒนาไปเป็นหัวล้าน ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงวิธีแก้ปัญหา เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าอาการผมร่วงนั้นมีที่มาอย่างไร เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด
ปัจจัยภายนอก เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาบางชนิด การพักผ่อนที่น้อยเกินไป การได้รับสารเคมีต่าง ๆ (เช่นผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม – ยืด/ดัดผม) การติดเชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นต้น
ปัจจัยภายใน เช่น อายุ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน โรคบางชนิด สภาพจิตใจ ความเครียดต่าง ๆ เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาผมร่วงสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการมุ่งเน้นที่การลดความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างการปลูกผมและการกระตุ้นรากผม ซึ่งในที่นี้จะเน้นที่การลดความเสี่ยงจากต้นเหตุด้วยการดูแลตัวเองง่าย ๆ ผ่านวิธีต่าง ๆ เหล่านี้
รับประทานอาหารที่มีสารอาหารสำหรับการฟื้นบำรุงผมโดยเฉพาะ นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญแล้ว การรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริมอย่างไบโอติน, ซิงค์ (สังกะสี) และซิลิกา มีส่วนช่วยในการลดการขาดหลุดร่วงและเสริมสร้างการเกิดใหม่ของเส้นผมได้ โดยมีงานวิจัยทางคลินิกพบว่าเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 90 วัน พบว่าจำนวนของเส้นผมเพิ่มมากขึ้น ไรผมเกิดใหม่มากขึ้นและหนาขึ้น และเส้นผมดูหนาขึ้นชัดเจน จึงช่วยลดปัญหาผมหลุดร่วงได้
เรียนรู้การดูแลเส้นผมและหนังศีรษะที่ถูกวิธี ทั้งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลเส้นผม, การสระผมที่ถูกต้อง รวมไปถึงการดูแลหนังศีรษะ โดยเฉพาะการหวีผม ควรเลือกใช้หวีทีมีปุ่มนวดผมและหวีให้ถึงหนังศีรษะวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที (ในระหว่างนี้อาจสังเกตว่ามีผมร่วงเกิน 100 เส้นหรือไม่) ไม่ควรหวีผมขณะผมเปียก และหวีเบา ๆ ไม่กระชากผมขณะหวี
หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนและสารเคมีกับเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นการหนีบผม ไดร์ผม การยืด – ดัด – ย้อมสีผม ล้วนส่งผลกระทบต่อเส้นผมและหนังศีรษะได้ ทำให้ผมเสีย เปราะขาดและร่วงได้ง่าย หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมเหล่านี้
ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง หลีกเลี่ยงการเผชิญความเครียดต่าง ๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าความเครียดนั้นคือหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ นอกจากนี้แล้วโรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ก็มีส่วนทำให้ผมร่วงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตให้ดีและไม่เครียดจนเกินไปจึงมีส่วนช่วยลดอาการผมร่วงได้
หมั่นสังเกตตัวเองและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตรวจสอบความผิดปกติด้วยตัวเองได้อย่างทันท่วงที และสามารถรักษาโรคได้เร็วก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่
วิธีต่าง ๆ ข้างต้นเป็นวิธีแก้ผมร่วงง่าย ๆ ที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ทำให้เส้นผมมีสุขภาพดี ไม่หลุดร่วงง่าย ทั้งนี้อาจต้องอาศัยระยะเวลาสักระยะจึงจะเห็นผล และผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หากปฏิบัติตามแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.interpharma.co.th/articles/healthy-and-aging
สยามสไมล์