ไขข้อสงสัย โรคฝีดาษลิง คืออะไร อาการเป็นอย่างไร?

1571 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขข้อสงสัย โรคฝีดาษลิง คืออะไร อาการเป็นอย่างไร?

       ในช่วงนี้เราคงได้ยินเกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ที่มีการพบผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร โปรตุเกส ล่าสหรัฐอเมริกาที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากแคนาดา นอกจากนี้ยังพบผู้มีอาการของโรคที่สเปนโดยมีทั้งเคสที่ยืนยันและต้องสงสัย โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นญาติกับไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (smallpox) ซึ่งโรคไข้ทรพิษหมดไปจากโลกแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 แต่โดยปกติแล้วโรคฝีดาษลิงพบประปรายในบางพื้นที่ของทวีปแอฟฟริกาและมักพบในสัตว์ ล่าสุดได้ข่าวเกี่ยวกับการพบโรคฝีดาษลิงในคนแถบยุโรป อย่างที่สหราชอาณาจักรโดยพบว่าผู้ป่วยเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศไนจีเรีย โปรตุเกสพบผู้ป่วยแล้ว 6 ราย และที่สเปนพบผู้มีอาการต้องสงสัยและรอการยืนยันผล นอกจากนี้มีการพบผู้ป่วยรายแรกในสหรัฐอเมริกาแล้วซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศแคนาดา
       เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคฝีดาษลิง มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วย ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เราเรียกกันว่า การปลูกฝีจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตามเด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน อาจเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค monkeypox มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

อาการของโรคฝีดาษลิง
       อาการของโรคฝีดาษลิง มักมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ และมีระยะฟักตัวตั้งแต่ติดเชื้อจนมีอาการประมาณ 5-21 วัน มีอาการป่วยปนเป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หนาวสั่น เหนื่อย และต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งจุดนี้เองที่แตกต่างจากโรคฝีดาษในคน
       หลังจากเป็นไข้จะมีตุ่มคันเกิดขึ้นใน 1-3 วัน มักจะเริ่มที่ใบหน้า และกระจายไปตามร่างกาย บางคนอาจขึ้นไม่เยอะ หรือบางคนอาจขึ้นหลายพันตุ่ม จะเป็นตุ่มนูนใหญ่ มีหนองข้างในเมื่อสุกแล้วจะแตกเป็นแผล

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง
       การติดต่อของโรคนี้เกิดได้จากการติดจากสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยมีการติดต่อของโรคจากสัตว์กัด ข่วน หรือกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค ส่วนการติดจากคนสู่คนเกิดได้จากการสัมผัสกันโดยตรง หรือจับเสื้อผ้าที่นอนที่ปนเปื้อนเชื้อซึ่งไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแผลบนผิวหนัง หรือระบบทางเดินหายใจหรือเนื้อเยื่อที่มีเมือก เช่น ดวงตา จมูก ปาก
       ส่วนใหญ่การแพร่จากคนสู่คน จะผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากทางเดินหายใจ เช่น หยดน้ำลาย ทำให้เชื้อมักเดินทางไปไม่ไกลนัก จึงต้องเว้นระยะห่าง ในช่วงใบหน้าต่อใบหน้า (face to face) แต่จากการระบาดที่พบตอนหลังนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ก็มีโอกาสจะแพร่เชื้อได้ เนื่องจากกิจกรรมทางเพศนั้น ทำให้คนทั้งสองมาอยู่ใกล้ชิดกัน

การรักษาและป้องกันโรค
       การรักษาโรคฝีดาษลิง ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่โรคจะหายไปเอง เชื่อกันว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษนั้น มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคฝีดาษลิงไปด้วย และเนื่องจากโรคฝีดาษได้ถูกกำจัดหมดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้ตอนนี้ไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษสำหรับประชาชนเหลืออยู่อีกต่อไป
       แต่ข่าวดีคือ มีการพัฒนาวัคซีนใหม่สำเร็จแล้วโดยบริษัท Bavarian Nordic  สำหรับป้องกันทั้งโรคฝีดาษในคนและโรคฝีดาษลิง โดยได้รับการรับรองแล้วจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา จะใช้ชื่อการค้าว่า Imvanex, Jynneos และ Imvamune ส่วนยาต้านไวรัสกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด


Cr. ศูนย์ข้อมูลโรคติดต่อและพาหะนำโรค / www.theguardian.com / www.euronews.com / อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้