ต้อหิน ภัยเงียบที่หน้ากลัว! อาการ และ สาเหตุเป็นอย่างไร?

424 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต้อหิน ภัยเงียบที่หน้ากลัว! อาการ และ สาเหตุเป็นอย่างไร?

โรคทางดวงตาที่ร้ายแรง หากเป็นแล้ว ถึงขั้นตาบอดได้ โรคต้อหินหนึ่งในโรคร้ายแรง ที่ประชากรในประเทศไทยเองมีจำนวนผู้ป่วยไม่แพ้โรคอื่นๆ มักเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยเป็นโรคทางสายตาที่ไม่ค่อยพบสัญญาณเตือน


ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตนเองเป็น กว่าจะรู้ตัวขั้วประสาทตาก็อาจถูกทำลายหมด จนไม่สามารถที่จะกลับมามองเห็นได้อย่างคนปกติ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นก่อนดีกว่า เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและสังเกตุว่าต้อหินอาการเป็นอย่างไร ก่อนที่จะสายเกินแก้นั่นเอง


ต้อหินอาการมีดังนี้
 - ตาแดง
 - มีอาการปวดตา
 - มองเห็นแสงไฟรอบดวงไฟหรือหลอดไฟ
 - กระจกตามีอาการบวมขึ้น และขุ่น
 - ปวดหัวในตอนเช้า
 - มีอาการของความดันตาสูง


สาเหตุ
    ต้อหินเกิดจากการความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา อาจจะเกิดได้จากการสร้างน้ำที่มากขึ้น หรือมีการขับออกของน้ำน้อยกว่าปกติ เมื่อมีน้ำขังมากขึ้นก็ทำให้ความดันตาสูงขึ้น จึงเกิดการทำลายเซลล์ในขั้วประสาทตา

    โดยทั่วไปค่าความดันตาปกติจะอยู่ที่5-22มิลลิเมตรปรอท หากพบความดันตาสูงกว่า22มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันตาสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหิน


ประเภท
แบ่งตามลักษณะมุมตา ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมตาปิด และต้อหินชนิดมุมตาเปิด
แบ่งตามสาเหตุ ได้แก่ “ต้อหิน” ชนิดปฐมภูมิที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน และ “ต้อหิน” ชนิดทุติยภูมิที่มีสาเหตุจากโรคตาอื่่น ๆ เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา, การอักเสบในลูกตา, ต้อกระจก, เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
แบ่งตามระยะการเกิดโรด ได้แก่ ต้อหินเฉียบพลัน และต้อหินเรื้อรัง


การรักษา

เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากขั้วประสาทตาถูกทำลายอย่างถาวร เซลล์ที่ตายแล้วจะไม่สามารถกำเนิดใหม่ได้อีก  การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายมากขึ้นและคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด โดยการรักษาจะแบ่งออกเป็น

การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด เป้าหมายคือเพื่อลดความดันตาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ขั้วประสาทตาจะไม่ถูกทำลายมากขึ้น การรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดยาให้สม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน โดยอาจจะเริ่มด้วยยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิด แพทย์จะทำการติดตามผลเป็นระยะเพื่อปรับยา ดูการดำเนินโรค และดูผลข้างเคียงของยา
การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ การรักษาวิธีนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของต้อหิน และระยะของโรค
Laser peripheral iridotomy (LPI) ใช้สำหรับการรักษาต้อหินมุมปิด เพื่อป้องกันการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน
Selective laser trabeculoplasty (SLT) ใช้สำหรับการรักษาต้อหินมุมเปิด โดยอาจใช้เป็นการรักษาแรกๆเพื่อลดความดันตา หรือใช้เสริมเมื่อใช้ยาหยอดแล้วได้ผลไม่ดีนัก
Laser cyclophotocoagulation ใช้ในกรณีที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆแล้วไม่ได้ผล
การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาโดยการหยอดยาหรือเลเซอร์ได้ โดยการผ่าตัดมีได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดทำทางระบายน้ำภายในลูกตา(Trabeculectomy) การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำลูกตา(Glaucoma drainage device)
การนวดตา สมุนไพร และอาหารเสริม ไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ นอกจากไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดโทษทำให้โรคแย่ลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยต้อหินระยะสุดท้าย

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อคัดกรองต้อหินปีละครั้ง ได้แก่
อายุมากกว่า 40 ปี
มีญาติสายตรง(บิดามารดา พี่น้อง)เป็นต้อหิน และมีอายุมากกว่า 35 ปี
มีประวัติอุบัติเหตุที่ตา
ใช้สารสเตียรอยด์เป็นประจำ
สายตาสั้นมาก หรือสายตายาวมาก
เป็นเบาหวาน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้